สร้างพุทธศิลป์เพื่อแผ่นดิน วัดร่องขุ่น ถวายเป็นพุทธบูชา

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

ผมเป็นจิตรกรอาชีพ ชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ ผมตั้งมั่นที่จะเป็นศิลปินเขียนรูปเพียงอย่างเดียว จึงขยันฝึกฝนตัวเองจนสามารถเรียนจบวิชาศิลปะจากสถาบันศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ โรงเรียนเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมผ่านการได้รับรางวัลที่ 1 เหรียญทองจากการประกวดผลงานศิลปะระดับชาติ เมื่อปี 2520 หลังจากนั้นไม่ส่งผลงานเข้าประกวดอีกเลย เพราะคิดว่าได้รับรางวัลไม่ใช่จุดสูงสุดในชีวิตที่ผมได้ตั้งเป้าหมายไว้

ระหว่างปี 2523 ถึงปี 2539 ผมออกเดินทางไปแสดงผลงานเพื่อหาประสบการณ์และเผยแพร่งานพุทธศิลป์ในต่างประเทศทั้งในเอเชีย ยุโรป และ อเมริกา โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ ผมเดินทางไปอยู่ถึง 4 ปี เพื่อเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดไทย ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นวัดของรัฐบาลไทย ชื่อวัพพุทธปทีป เริ่มปี 2527 ถึงปี 2531 เพื่ออุทิศเป็นพุทธบูชา แด่พระพุทธเจ้าและประเทศชาติของผม โดยไม่คิดค่าจ้าง เพราะผมปรารถนาที่จะเป็นผู้นำงานพุทธศิลป์ร่วมสมัยของชาติผมให้ชาวโลกได้รู้จักได้สัมผัสสุนทรียภาพทางอารมณ์และปรัชญาที่แตกต่าง

ผมเรียนธรรมะของพระพุทธเจ้ามากว่า 20 ปี ผมเข้าใจสัจธรรมการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ผมฝึกฝนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อตัดกิเลสได้มากพอควร ผมนำหลักพุทธธรรมเป็นผู้นำชีวิตให้เดินทางสายกลางทั้งภายนอกและภายใน จนประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม

ทางโลกนั้น ผมมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและรู้จักของคนทั้งประเทศ มีนักสะสมผลงานศิลปะทั้งในและต่างประเทศหาซื้อผลงานของผม จนไม่มีในตลาดศิลปะ ทำให้หลังปี 2540 ผลงานของผมมีราคาสูงมาก และหาซื้อไม่ได้ในขณะนี้

ปี 2538 ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้รับใช้ถวายงานแด่พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รับยิ่งของผมหลายชิ้น ส่วนในทางธรรมนั้น ผมมีจิตใจที่งดงามมากขึ้น มีความสุข จิตราบเรียบสงบไม่ฟุ้งซ่านดิ้นรนเหมือนอดีตก่อนผมรู้จักธรรมะของพระพุทธองค์ ธรรมะทำให้ผมมุ่งปรารถนาที่จะเป็นผู้ให้แก่มวลมนุษยชาติ และเป็นที่มาของการตั้งจิตมุ่งมั่นที่จะคืนชีวิตตนเองให้แก่ชาติ แก่พระศาสนา และมนุษย์ทั้งโลก ผมตั้งความหวังที่จะมอบชีวิตในวัยที่มีค่าที่ดีพร้อมที่สุดของอาชีพจิตรกร ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา ฝีมือ จินตนาการให้แก่โลกไปจวบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ผมเริ่มงานก่อสร้างตามตั้งใจไว้ถึง 3 ปี โดยการเริ่มสร้างวัดร่องขุ่น วัดบ้านเกิดของผม เมื่ออายุเพียง 42 ปี ด้วยเงินที่ผมเก็บสะสมไว้กว่า 20 ปี จากการจำหน่ายผลงานศิลปะของผม

วัดร่องขุ่น

วัดร่องขุ่น

ผมหวังที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผมให้ปรากฏเป็นงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของโลกมนุษย์นี้ให้ได้ เพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติของผมไปสู่มวลมนุษยชาติทั้งโลก ผมเริ่มสร้างอุโบสถก่อนเมื่อปี 2540 บนพื้นที่เดิมของวัด 3 ไร่ ผ่านมาบัดนี้ ปี 2548 เข้าปีที่ 8 ที่ผมอุทิศตน ผมขยายวัดเป็น 12 ไร่ จากการซื้อที่ดินเพิ่มและคุณวันชัย วิชญาชาคร ร่วมบริจาค

หากเมื่อผมตาย คณะลูกศิษย์ที่ผมสอนไว้จะสานต่อจินตนาการของผมจนแล้วเสร็จทั้งหมด ผมได้เตรียมการบริหารจัดการหลังความตายไว้พร้อมแล้ว ท่านที่มาชมวัดแล้วอย่ากังลงใจกลัวว่าผมจะสร้างไม่สำเร็จ เพราะสาเหตุที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และยังจำกัดจำนวนของผู้บริจาคให้ไม่เกิน 10,000 บาท เงินไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับผม มาวันนี้ผมจ่ายไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท ผมมั่นใจในตนเอง มั่นใจต่อจิตอันเป็นผู้ให้ของผม ขอทุกท่านอย่าได้เป็นห่วง ผมไม่ปรารถนาขอเงินใคร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล องค์กรเอกชน หรือเศรษฐีร่ำรวย เพราะผมไม่อยากอยู่ใต้อำนาจทางความคิดของใคร ไม่ต้องการให้ใครมีอำนาจเหนือจินตนาการของผม ผมต้องการอิสรภาพทางความคิดสร้างสรรค์ ผมเชื่อว่า “เงินจำนวนมาก ย่อมมาพร้อมอำนาจของผู้บริจาค”

ผมสร้างงานพุทธศิลป์ด้วยความศรัทธาจริตไม่ได้มุ่งหวังสิ่งใด ๆ ตอบแทน ไม่ต้องการและไม่ชอบการทำบุญเอาหน้า วัดนี้ไม่เคยเรียไรเงินด้วยกฐินผ้าป่า วัดนี้ไม่รีบร้อนสร้างเพื่อฉลองในโอกาสใด ๆ ทั้งสิ้น ผมคิดเพียงอย่างเดียว ต้องดีที่สุดสวยที่สุด สร้างจนหมดภูมิปัญญาทางโลกและทางธรรมของผม

“ความตายเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะหยุดเสรีภาพแห่งจินตนาการของผมได้”

วัดร่องขุ่น เชียงราย

วัดร่องขุ่น เชียงราย

Leave a Reply

Copyright วัดร่องขุ่น - จังหวัดเชียงราย ผลงานของท่าน อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์.
อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า "ผมสร้างวัดไม่เคยเรี่ยไรเงินด้วยกฐินผ้าป่า ผมต้องการปัจจัยที่มาจากความบริสุทธิ์ใจของชาวพุทธ ที่ทำบุญเพื่อถวายพระพุทธเจ้า
เพื่อพระศาสนาและพุทธศิลป์ของชาติ จริงๆ ไม่ใช่ทำบุญเพื่อคิดช่วยผม" หากท่านผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมของชาติ
ร่วมบริจาคเงินสมทบกองทุน กรุณาติดต่อที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย 57000 โทร. 053-673579 โทรสาร 053-673539
จัดทำโดย เฉลิมพรชัย (สุขใจ) ฉัตรแก้ว เพื่อเผยแพร่วัดร่องขุ่นให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น